สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมหาอุปราชแห่งกรุงธนบุรี
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า จุ้ย ประสูติแต่กรมหลวงบาทบริจา (สอน) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระอนุชาหนึ่งพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย ด้วยเหตุที่พระองค์ประสูติแต่พระอัครมเหสีที่มิได้เป็นเจ้ามาแต่เดิม เมื่อแรกประสูติจึงมีพระยศเป็น พระองค์เจ้า ต่อมาทรงรับราชการได้รับความชอบชนะศึกพม่าในปี พ.ศ. 2318 จึงถูกยกเป็นเจ้าฟ้าทรงกรม ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า "จึงพระกรุณาโปรดตั้งพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ยเป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์"
เจ้าฟ้าจุ้ยมีพระปรีชาสามารถในการรบ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าสถาปนาเป็น พระมหาอุปราช และโปรดให้เสด็จไปตีเมืองกัมพูชา พร้อมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยมีพระราชดำริว่า เมื่อตีเขมรได้ ก็ให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำพิธีสถาปนา กรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นเป็นเจ้าครองนครกัมพูชา
แต่อย่างไรก็ตามเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ถือว่ามีบทบาทด้านการศึกน้อยเมื่อเทียบพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์) มักปรากฏในพงศาวดารบ่อยครั้งกว่า
ช่วงปี พ.ศ. 2323 เป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวถึงว่ามีพระอารมณ์หงุดหงิดวิปริตไปเสียหมด ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขา ดังปรากฏว่า
"ครั้งถึง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องใหญ่ ครั้งเสร็จแล้วส่องพระฉายทอดพระเนตรเห็นพระเกศาเหนือพระกรรณเบื้องซ้ายเหลืออยู่เส้นหนึ่ง ก็ทรงพิโรธเจ้าพนักงานชาวพระภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องนั้น ว่าแกล้งทำประจานพระองค์เล่น จึงดำรัสถามพระเจ้าลูกเธอ กรุมขุนอินทรพิทักษ์ว่า โทษคนเหล่านี้จะเป็นประการใด กรมขุนอินทรพิทักษ์กราบทูลว่า เห็นจะไม่พิจารณาดูทั่ว พระเกศาจึงหลอหลงอยู่เส้นหนึ่ง ซึ่งจะแกล้งทำประจานพระองค์เล่นนั้นเห็นจะไม่เป็น ๆ แท้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโกรธพระเจ้าลูกเธอเป็นกำลัง ดำรัสว่ามันเข้ากับผู้ผิดกล่าวแก้กันแกล้งให้เขากระทำประจานพ่อดูเล่นได้ ไม่เจ็บแค้นด้วย จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ร้อยทีแล้วจำไว้ ให้เอาตัวชาวพระภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องทั้งสองคน กับทั้งพระยาอุทัยธรรมจางวางว่าไม่ดูแลตรวจตรากำกับเอาไปประหารชีวิตเสียทั้งสามคน"
แต่เรื่องราวดังกล่าวไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม, ฉบับพันจันทนุมาศ, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ รวมไปถึงจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งมักจะมีการบันทึกเรื่องราวทำนองนี้แต่กลับไม่ปรากฏไว้
แต่หลังจากนั้นอีก 6 วัน พระองค์ก็ถูกถอดพระอิสริยยศ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า "ถึง ณ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ดำรัสสั่งให้รื้อตำหนักพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์แล้วริบเครื่องยศ ให้ถอดเสียจากยศ ครั้นนานมาหายพระโกรธแล้ว จึงโปรดให้พ้นโทษ พระราชทานเครื่องยศแล้วให้คงยศดังเก่า" ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายเหตุโหรความว่า "ปีชวด จ.ศ. ๑๑๔๒ วัน ๖ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ริบเครื่องยศเจ้าวังนอก" และเหตุดังกล่าวได้พาลไปถึงพระราชมารดาของพระองค์ ถึงกับออกคำสั่งขับกรมหลวงบาทบริจาออกจากวังไปประทับกับลูก ดังปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวีคือ "ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก"
ช่วงที่ถูกริบเครื่องยศ พระองค์ได้ตัดสินใจออกผนวช เพื่อเลี่ยงพระราชอาญา เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงหายพิโรธแล้ว ก็พระราชทานยศศักดิ์คืนตามเดิม ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทัพหนุนเข้าตีเมืองพุทไธเพชร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้หมายพระทัยที่จะรั้งพระโอรสพระองค์นี้ครองกรุงกัมพูชาสืบไป
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 ขณะกรมขุนอินทรพิทักษ์ และพระยากำแหงสงคราม (บุญคง) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร ราชธานีของกัมพูชา) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ยกทัพกลับกรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมกับสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบรมวงศานุวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เป็นชาย ได้ส่งทหารตามจับกุมตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์ พร้อมด้วยพระยากำแหงสงคราม และทหารองครักษ์จำนวน 5 คน ได้ในป่าตำบลเขาน้อย สระบุรี
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตรัสถามกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่าทรงยินดีที่จะไว้พระชนม์ให้ แต่กรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงยืนยันที่ขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปสำเร็จโทษพร้อมกับพระยากำแหงสงคราม และพระอนุชา คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายน้อย เมื่อวันเสาร์ เดือน 6 แรม 8 ค่ำ พ.ศ. 2325
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระมหาอุปราช_เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์